สนค. จัด 'CLMVT Forum 2023: การปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานเพื่อความยั่งยืน' สร้างโอกาสเติบโตกลุ่มประเทศ CLMVT
กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ CLMVT Forum เสริมสร้างการค้าและความร่วมมือในภูมิภาค ได้จัดกิจกรรมการสัมมนาเชิงวิชาการและการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “CLMVT Forum 2023: Reshaping Supply Chains for Sustainability & Carbon Reduction” ภายใต้แนวคิด การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 ในรูปแบบไฮบริด ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ นนทบุรี และทางแพลตฟอร์มออนไลน์ (Zoom) โดยนายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมากประสบการณ์ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแสดงวิสัยทัศน์ เกี่ยวกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสินค้าศักยภาพ 3 รายการ ได้แก่ สินค้าอาหาร สินค้ายานยนต์ สินค้ายางและผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาทั้งออฟไลน์และออนไลน์จำนวนกว่า 200 คน
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ริเริ่มจัดงาน CLMVT Forum มาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเป็นเวทีหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และข้อคิดเห็นด้านนโยบายเศรษฐกิจการค้าระหว่างผู้แทนระดับสูงภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการในกลุ่มประเทศ CLMVT ให้มีความพร้อมสำหรับระบบเศรษฐกิจการค้ายุคใหม่ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สนค. เล็งเห็นว่าปัจจุบันนานาประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ก็ได้ออกกฎหมายและมาตรการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน และระบบโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ในฐานะที่กลุ่มประเทศ CLMVT เป็นหนึ่งในฐานการผลิตสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคส่วนต่าง ๆ ของ CLMVT จะต้องร่วมกันหารือแนวทางการปรับตัวและพัฒนายกระดับการผลิตของประเทศให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ นโยบาย กฎหมาย มาตรฐานของประเทศคู่ค้าสำคัญ ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็ได้ดำเนินนโยบายและมาตรการในการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมผู้ประกอบการสู่การค้ายุคใหม่อย่างต่อเนื่อง
ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาว่า คู่ค้าสำคัญของ CLMVT ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ต่างมีกฎระเบียบในเรื่องมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยและ CLMVT ต้องปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการบังคับใช้ของกฎระเบียบดังกล่าว โดยบริษัทชั้นนำของโลกต่างตั้งเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องเผชิญกับความท้าทาย ในการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจในการปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด เพื่อที่จะสามารถรักษาสถานะการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลกได้
นอกจากนี้ ในช่วงเสวนา “การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: แนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” คุณเตชะ บุณยะชัย รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ ให้ความเห็นว่า ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนำเสนอแนวทางที่จะทำให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งลำดับแรกธุรกิจต้องทราบว่าเกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในขั้นตอนใด แล้วจึงจะหาทางกำจัดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการลดใช้พลังงาน (de-energization) หรือการลดการปล่อยคาร์บอน (decarbonization) จากนั้นจึงบริหารจัดการก๊าซคาร์บอนที่ไม่สามารถลดได้ โดยกำหนดจุดยืนขององค์กรและจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ขององค์กร
ดร. อนุรักษ์ เรืองรอบ นายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย เน้นย้ำว่า ไทยควรเร่งปรับตัวในสินค้าส่งออกให้มั่นใจว่าสอดคล้องกับกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) จะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันครอบคลุมสินค้าแค่ 6 กลุ่ม (เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน) แต่ในอนาคตจะขยายขอบเขตไปยังกลุ่มสินค้าอื่นๆ ผู้ประกอบการจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การทำเกษตร บรรจุภัณฑ์ ลงทุนในพลังงานสะอาด และลดขยะอาหาร (food waste) เป็นต้น
ดร. นุวงศ์ ชลคุป ผู้แทนจากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรรมการสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ให้ข้อมูลว่า ในอนาคตการห้ามจำหน่ายรถยนต์เครื่องสันดาป (Internal Combustion Engine: ICE) ของโลกจะมีเพิ่มมากขึ้น และการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 โดยจีนเป็นผู้เล่นรายใหญ่ อย่างไรก็ดี ไทยมีการพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตอาจเป็นโอกาสของไทยในการดึงดูดการลงทุนและเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น
คุณศุภเดช อ่องสกุล รองสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ในการส่งออกสินค้ายาง โดยเฉพาะไปยังสหภาพยุโรป ผู้ประกอบการควรพิสูจน์ให้ได้ว่าสินค้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้ (deforestation-free products) ซึ่งสินค้าที่จะได้รับการอนุญาตให้จำหน่ายหรือส่งออกจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและประเมิน (due diligence) ก่อนจะได้รับการนำเข้า ดังนั้น สินค้ายางที่จะส่งออกควรได้มาตรฐานสากล อาทิ มาตรฐานขององค์การจัดการด้านป่าไม้ (Forest Stewardship council: FSC) และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ
ในช่วงบ่าย ได้มีการจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการ แบ่งเป็น 3 ห้อง ตามสินค้าศักยภาพ เพื่อระดมความเห็นในการหาแนวทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของสินค้าใน CLMVT ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและระบบโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องซึ่งผลจากการจัดสัมมนาเชิงวิชาการและการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “CLMVT Forum 2023: Reshaping Supply Chains for Sustainability & Carbon Reduction” ในครั้งนี้ สนค. จะนำไปประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสินค้าศักยภาพของ CLMVT ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการใช้ประโยชน์และปรับตัวสู่ห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป
No comments