Header Ads

ผู้บุกเบิกงานวิจัย “นกเงือก” และวิทยุติดตามตัวนกเงือก คนแรกของประเทศไทย เจ้าของฉายา “มารดาแห่งนกเงือก” “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์” หนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลมหิดลวิทยากร ประจำปี 2567 มหาวิทยาลัยมหิดล


“มหิดลเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย และเป็นปัญญาของแผ่นดิน อยากให้ทุกท่านหันมาสนใจ เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ เพราะทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นทุนที่สำคัญของประเทศ ดังนั้น งานอนุรักษ์ไม่ใช้งานเลี้ยง หรืองานสังสรรค์ที่จะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เป็นเสมือนลมหายใจของคนไทย ที่หายใจอยู่ตลอดเวลา มันจะคงอยู่ได้จะต้องมีคลื่นรุ่นใหม่ มีนักวิจัยรุ่นหลังที่มารับช่วงต่อ ซึ่งเป็นความสำคัญอย่างมากของประเทศไทย มันไม่ใช่หน้าที่ของใคร คนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุก ๆ คน ที่อาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินนี้ ที่จะต้องดูแลมรดกทางธรรมชาติ ให้ยั่งยืน เพื่อลูกหลานต่อไป”


สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศเชิดชูเกียรติผู้มีความรู้ความสามารถ มีจริยธรรม คุณธรรม บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม และประสบผลสำเร็จทางด้านวิชาการ และการดำรงชีวิต เป็นที่ยอมรับ ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดล และสาธารณชนทั่วไป เนื่องในโอกาสการจัดงาน 56 ปีวันพระราชทานนาม และ 137 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล โดยในปี 2567 คณะกรรมการได้มีมติมอบรางวัล “มหิดลทยากร” ให้แก่ศิษย์เก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัล “มหิดลทยากร” ของสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษา โรงเรียนวัดดอนยาง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-4 โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 โรงเรียนพิบูลย์วิทยาลัย จังหวัดลพบุรี ระดับมัธยมชั้นปีที่ 5-6 โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดสระบุรี และเป็นนักเรียนทุนกระทรวงศึกษาธิการตลอดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จปริญญาโท วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยมหิดล และปริญญาเอก สาขาชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยโอซาก้าซิตี้ ประเทศญี่ปุ่น

ปัจจุบัน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล เล่าว่า เริ่มต้นจากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก หรือ “Thailand Hornbill Project” คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย เริ่มงานวิจัยตั้งแต่ปี พศ. 2521 ได้ทำการศึกษาวิจัยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จนถึงปัจจุบัน ต่อมาปี พศ. 2534 ได้ขยายงานวิจัยออกไปในเขตผืนป่าภาคตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และในปี พศ. 2537 ได้ขยายงานวิจัยลงไปภาคใต้ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จนถึงปัจจุบันได้มีการสำรวจการแพร่กระจายและสถานภาพของนกเงือกทั่วประเทศ เพื่อความต่อเนื่องและขอบเขตของงานวิจัย จึงเกิดแรงผลักดันให้มีการจัดตั้งเป็น “มูลนิธิ” ขึ้น โดยได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2536 ซึ่งปัจจุบันตนเองดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติบูโด สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันมูลนิธิฯ มีงานวิจัยที่ต้องรับผิดชอบหลายโครงการ ซึ่งดำเนินการวิจัยโดย โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกรมอุยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) แห่งประเทศไทย คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศิลปากร


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล นอกจากจะอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เละสัตว์ป่าแล้ว จากผลงานวิจัยนกเงือก ยังมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป
อาทิ ชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด จ. นราธิวาส ปัตตานี ยะลา เกาะยาวน้อย จ.พังงา เกาะกูด จ. ตราด เกาะเสม็ด จ.ระยอง เป็นต้น ร่วมกับเอกชนโรงแรมและรีสอร์ท ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการล่านกเงือก การตัดไม้ทำลายป่าของชาวบ้าน เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชน โรงเรียน เยาวชน นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับนกเงือกและถิ่นอาศัยให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ เสริมสร้างความตระหนัก ปลูกจิตสำนึก และเห็นคุณค่าของเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้นกเงือกเป็นสื่อ และนำงานวิจัยนกเงือกมาเป็นสื่อกลางให้คนเมืองเข้ามาสัมผัส และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น

ความรู้สึกที่ดีรับรางวัลในครั้งนี้ว่า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล รู้สึกเป็นเกียรติที่ตนเองได้รับรางวัลอันทรงเกียรติเป็นอย่างสูง ตนเองรู้สึกภูมิใจ ปลื้มใจ และอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับองค์กรของเรายอมรับเรา คนในองค์เราเห็นว่างานของตนเองมีคุณค่าและยอมรับเรา โดยมหาวิทยาลัยมหิดลให้สนับสนุนตั้งแต่เริ่มต้น ผู้บังคับบัญชาทุกระดับให้การสนับสนุนตลอดมา แม้เจออุปสรรคต่าง ๆ จากภายนอกมากกว่า แต่ตนเองมั่นใจว่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยมหิดล ที่คอยปกป้องและสนับสนุนตนเองมาตลอด ตนจึงได้ทำงานได้อย่างยาวนานและเต็มกำลังความสามารถ ไม่ว่าการติดต่อพื้นที่จากภายนอก จะได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล มาโดยตลอด

นอกจากนั้น อาจารย์ยังเล่าต่ออีกว่า ตนเองถูกบรรจุอยู่ในภาควิชาจุลชีววิทยา ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตนเองได้ทำการวิจัยในภาคสนามในเรื่องของนกเงือก สมัยศาสตราจารย์เกียรติยศ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ดำรงตำแหน่งคณบดีในสมัยนั้น รวมทั้ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ รวมทั้งคณบดีและอาจารย์ผู้ใหญ่ทุกสมัย และอีกหลายท่านที่ไม่ได้กล่าวถึงมา ณ ที่นี้ที่คอยให้กำลังใจการสนับสนุน คอยผลักดันด้วยดีตลอดมา ซึ่งในช่วงแรกตนเองได้สนใจเรื่องช้าง ศาสตราจารย์เกียรติยศ ดร.พรชัยเคยบอกตนเองว่ามันใหญ่เกินไป เลยเลือกนกเงือก เพราะ อาจารย์มีพื้นฐานเรื่องนี้มานานแล้ว ทำให้ตนเองมีกำลังใจ ทุ่มสุดตัวในการทำงานวิจัยชิ้นนี้อย่างเต็มที่

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล ได้ฝากข้อคิดนักวิจัยรุ่นใหม่ ในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติว่า ภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร จะเห็นจากการที่ป่าโดนทำลายลงในทุก ๆ ปี มหาวิทยามหิดลเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย และเป็นปัญญาของแผ่นดิน อยากให้ทุกนักวิจัยรุ่นใหม่ทุกท่านหันมาสนใจ เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ เพราะทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นทุนที่สำคัญของประเทศ ดังนั้นเราจึงนำผลงานวิจัยมาปรับให้เข้าใจได้ง่ายและเข้าถึงประชาชน เพื่อสร้างจิตสำนึกและสร้างความภาคภูมิใจ อย่างเช่น ที่บูโด ก็จะเป็น บูโดโมเดล “Budo Model” เปลี่ยนชุมชน ชาวบ้านให้มาอนุรักษ์นกเงือก ทำให้เขาเปลี่ยนทัศนะคติ และฝึกเด็กเล็ก ๆ ที่เราปลูกฝั่งตั้งแต่ยังเล็ก จิตสำนึกของเยาวชน และจัดกิจกรรมให้เด็กให้สัมผัส กับธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลอาจจะเด่นในเรื่องธรรมชาติ นอกจากในเรื่องสาธารณสุข การแพทย์ มันอาจจะเป็นที่ปลายเหตุหรือเปล่า เพราะเราระดมรักษา ที่ปลายเหตุหรือเปล่า ต้นเหตุมันคืออะไร สิ่งสำคัญเราทุ่มอะไรมากมาย แต่เราไม่รู้ว่าสาเหตุมันเกิดจากอะไร เรายังไม่ดีเท่าที่ควรเรื่องของสาธารณสุข คนก็จะเป็นโรคโน้น นี่ มากมาย

ท้ายสุด ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิไล ได้ฝากความรู้ เรื่องของ “นกเงือก” ว่า นกเงือกจะพาเมล็ดพืช เพราะฉะนั้นเขาจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ปลูกป่าที่สำคัญมาก ๆ ป่าเขตร้อนของเรา ซึ่งนกเงือกมีมาตั้งแต่ยุคโบราณ นกเงือกกินผลไม้หนึ่งผล ใน 1 วัน แล้วพาเมล็ดไป เราลองคิดดู 365 วัน นกเงือกจะกินทุกวัน ถ้าเรามีนกเงือกในปริมาณมาก ใน 1 วัน มันไม่ได้กินแค่เมล็ดเดียว และไม่ได้กินชนิดเดียว เพราะฉะนั้นมันจะหลากหลาย ถ้าเราสามารถอนุรักษ์นกเงือกไว้ได้ เราจะมีทั้งนกเงือก และเราจะมีทั้งป่าเพิ่มขึ้น ถ้าเรามองให้ทะลุถึงพื้นดิน เราต้องเข้าใจระบบนิเวศ เพราะฉะนั้นการศึกษาของไทยไม่ได้สอนถึงพื้นฐาน ในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องของนิเวศวิทยา ให้เข้าใจในทุกระดับชั้น ทุกอาชีพ มันต้องสอดแทรกตั้งแต่เยาวชน เพราะเราจะได้มีจิตสำนึก คุณธรรม จริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก นักวิจัยจะต้องมีจริยธรรม จรรยาบรรณอย่างสูง เราต้องให้เกียรติทีมงานวิจัย และนักวิจัย


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูนสวัสดิ์
นับเป็นบุคคลที่มีคุณูปการต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ ในด้านนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง และยังต่อยอดผลงานวิจัย เรื่องของการติดวิทยุนกเงือกคนแรกของประเทศไทย เพื่อการศึกษาการใช้พื้นที่ของนกเงือก ตลอดจนนำผลงานวิจัยด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา และพันธุกรรมของนกเงือกที่ได้ มาใช้ในการจัดการอนุรักษ์นกเงือกที่ใกล้จะสูญพันธ์อีกด้วย

No comments

Powered by Blogger.